วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ไม่สบาย สามารถขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่ได้ อย่างไรบ้าง

 เมื่อต้องเดินทาง...โดยเครื่องบิน..แต่สุขภาพไม่อำนวย จะต้องทำอย่างไร...


     “เครื่องบินพาหนะที่ช่วยอำนวยความสะดวกและรวดเร็วให้คุณในการเดินทาง แต่ถ้าคุณมีปัญหาสุขภาพ ลองมาดูกันนะค่ะ ว่าคุณเข้าข่ายในข้อห้ามของการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือไม่ และควรทำอย่างไรหากคุณต้องใช้เวลาในการบินนานๆ



การเดินทางทางอากาศกับการเปลี่ยนแปลงในระบบสรีรวิทยาของร่างกาย
     การเดินทางทางอากาศมีความแตกต่างจากสภาพแวดล้อมบนพื้นโลกปกติ ซึ่งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางระบบสรีรวิทยาของร่างกายดังต่อไปนี้

      ภาวะพร่องออกซิเจน เมื่อเครื่องบินขึ้นสู่ที่สูงความหนาแน่นของอากาศจะลดลง ทำให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่ใช้ในการหายใจลดลงไปด้วย ร่างกายจึงได้รับก๊าซออกซิเจนในการหายใจลดลง แต่เครื่องบินพาณิชย์จะทำการปรับความกดดันบรรยากาศของห้องผู้โดยสารให้อยู่ในระดับความสูง 5,000-8,000 ฟุต ในขณะที่ระดับความสูงภายนอกอยู่ที่ 30,000 ฟุต ในภาวะนี้ความกดดันของก๊าซออกซิเจนในห้องผู้โดยสารจะลดลงเหลือประมาณ 85% ของภาวะปกติ ซึ่งปริมาณก๊าซออกซิเจนในระดับนี้ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพของผู้ที่มีสุขภาพปกติ แต่ในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพร่างกายที่มีความไวต่อการขาดก๊าซออกซิเจน เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคโลหิตจาง หรือโรคลมชัก อาจเกิดปัญหาขึ้นได้

      ความเปลี่ยนแปลงความกดดันบรรยากาศ ขณะทำการบินสูงขึ้นไป ความกดดันบรรยากาศจะลดลง และเมื่อทำการบินลงความกดดันของบรรยากาศจะเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลต่อสรีรวิทยาที่สำคัญคือก๊าซ ซึ่งขังอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ก๊าซที่อยู่ตามโพรงหรือช่องตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ช่องหูชั้นกลาง โพรงไซนัส โพรงรากฟัน ปอด กระเพาะอาหารและลำไส้ เมื่อบินสูงขึ้นไปก๊าซดังกล่าวจะขยายตัว เนื่องจากความกดดันบรรยากาศลดลง อาจทำให้เกิดแรงดันต่ออวัยวะส่วนนั้นๆ ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหู ปวดไซนัส แน่นหน้าอก แน่นท้อง มากกว่าปกติ 

กลุ่มโรคต่างๆ ที่ควรทราบในการเดินทางโดยเครื่องบิน

     โรคติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจอาจกระจายไปสู่ผู้โดยสารอื่นได้หรือมีอาการเป็นที่น่ารังเกียจของผู้อื่น ไม่ควรเดินทางโดยเครื่องบินจนกว่าจะหายดีหรืออยู่ในภาวะที่ไม่ติดต่อแล้ว เช่น วัณโรคปอด ต้องกินยาจนตรวจเสมหะไม่พบเชื้อแล้ว

     โรคทางระบบสมอง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองตีบหรือเส้นโลหิตในสมองแตก ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับเซลล์สมองได้รับก๊าซออกซิเจนน้อยอยู่แล้ว เมื่อมาประสบภาวะพร่องก๊าซออกซิเจนจากการโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรจะรอให้อาการทางสมองหายเป็นปกติหรือมีอาการคงที่อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง

      โรคระบบทางเดินอาหาร ควรระวังเกี่ยวกับภาวะขยายตัวของก๊าซที่อยู่ในทางเดินอาหาร โดยปกติอากาศจะขยายตัวประมาณ 1.3 เท่าของปริมาตรในเครื่องบินโดยสารทั่วไป ดังนั้นผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดในช่องท้องควรรอเวลาให้ก๊าซในช่องท้องถูกดูดซึมหมดก่อนซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

      ภาวะโลหิตจาง จะเสี่ยงอันตรายจากภาวะพร่องก๊าซออกซิเจนจากการเดินทางโดยเครื่องบิน ทำให้มีอาการมากขึ้น ดังนั้นในกรณีที่มีความเข้มข้นของฮีโมโกลบินต่ำกว่า 10 กรัม/เดซิลิตรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และถ้าค่าฮีโมโกลบินน้อยกว่า 7.5 กรัม/เดซิลิตร ก็ไม่ควรโดยสารทางอากาศ

      โรคเบาหวาน เนื่องจากการเดินทางอาจมีการเปลี่ยนแปลงเวลา ทำให้เกิดความสับสนในการกินอาหารและยารักษาเบาหวาน สิ่งแรกที่ควรทำคือติดต่อสายการบินเพื่อขอให้จัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และควรนำยารักษาเบาหวานติดตัวขึ้นเครื่องบินไปด้วยทั้งชนิดยาฉีดพร้อมอุปกรณ์และชนิดยากิน

      ภาวะทางจิตเวช ผู้ป่วยทางจิตเวชต้องได้รับคำรับรองจากแพทย์ผู้รักษาว่าอาการสงบและมีความปลอดภัยในการเดินทาง โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิตประสาทต้องไม่มีอาการใน 2 สัปดาห์จึงจะสามารถเดินทางได้ หากต้องการเดินทางก่อนต้องมีแพทย์เดินทางไปด้วย
เด็กและทารกที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน

     สำหรับเด็กคลอดใหม่ควรรออย่างน้อย 48 ชั่วโมงก่อนการเดินทางบนเครื่องบิน เพื่อรอให้ระบบการหายใจเป็นปกติสมบูรณ์ดี
     ปัญหาสำคัญของเด็กคือ การปวดหู สามารถแก้ไขได้โดยการพยายามให้เด็กดูดน้ำหรือนม หรือเคี้ยวขนมขณะเปลี่ยนแปลงระดับความสูงอาจจะช่วยได้บ้าง
ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีข้อจำกัดในการเดินทางโดยเครื่องบินหรือไม่?

      ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาจากการพร่องออกซิเจนมีความสำคัญมาก ที่ระดับความสูงภายในเครื่องบินประมาณ 8,000 ฟุต ความกดดันย่อยของออกซิเจนลดลง ทำให้ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดลง ในคนปกติทั่วๆ ไปจะสามารถปรับตัวได้ด้วยการเพิ่มอัตราการหายใจและการเต้นของหัวใจ แต่ในผู้ป่วยโรคหัวใจบางรายก็ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น ต้องได้ออกซิเจนเพิ่ม หรือบางรายก็ไม่ควรเดินทาง

     เส้นเลือดหัวใจตีบ: ถ้าอาการคงที่ คือ อาการหายไปเมื่อพัก และสามารถเดินได้ไกล 50 เมตร หรือขึ้นบันไดเครื่องบินได้ โดยไม่เหนื่อยหรือเกิดอาการ สามารถเดินทางได้ แต่แพทย์ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยมียาติดตัวตลอดเวลา และควรมีการดำเนินการเพื่อมิให้เกิดความเครียดจากการเดินทาง

      กล้ามเนื้อหัวใจตาย: โดยทั่วไปควรรอถึง 6 สัปดาห์ และไม่มีภาวะหัวใจวายหรือเจ็บหน้าอก ก็สามารถเดินทางได้ สำหรับในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนถ้าต้องการเดินทางภายใน 2 สัปดาห์ แพทย์ของสายการบินจะเป็นผู้พิจารณาเอง แต่ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ควรรอนานกว่านี้จนกว่าอาการจะคงที่มากขึ้น

      ภาวะหัวใจล้มเหลว (severe decompensated heart failure): เป็นข้อห้ามในการเดินทาง ยกเว้นบางรายที่
     - ไม่มีอาการเจ็บหน้าอก
     - ไม่มีอาการหอบหรือหายใจตื้นขณะพัก
     - ถ้าสามารถเดินบนพื้นราบได้ไกล 50 เมตร หรือขึ้นบันไดเครื่องบินได้โดยไม่เกิดอาการ

      ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ (coronary artery bypass grafting; CABG):      ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาในการเดินทางถ้าหลังจากผ่าตัดไม่มีภาวะแทรกซ้อน ในรายที่หายเป็นปกติ บางรายเพียงแค่ 2 สัปดาห์ก็อาจเดินทางได้ โดยต้องมีการทดสอบเพื่อให้มั่นใจก่อนว่าอาการคงที่ และไม่มีภาวะหัวใจวายหรือการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ

      ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดขยายเส้นเลือดด้วยลูกโป่ง (percutaneous transluminal coronary angioplasty; PTCA)ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและสามารถทำกิจกรรมหลังการผ่าตัดได้เหมือนปกติแล้วจะไม่มีปัญหาในการเดินทางด้วยเครื่องบิน อย่างไรก็ตามควรทำการประเมินผลก่อนการเดินทาง

แนวทางในการพิจารณางดหรืออนุญาตการเดินทางของผู้โดยสาร
      ในกรณีทั่วไปสามารถใช้ใบรับรองแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยได้ แต่ในกรณีผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนหรือผู้ป่วยที่ต้องนอนไปตลอดทาง (stretcher) หรืออาการไม่คงที่ หรือเพิ่งผ่าตัด ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยเส้นโลหิตในสมองตีบหรือแตกภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่ต้องได้อาหารพิเศษ และอื่นๆ ในกรณีที่ไม่แน่ใจ จำเป็นต้องเขียนใบ MADIF (medical information form) ส่งให้สายการบินก่อน โดยแต่ละสายการบินจะมีแพทย์ประจำสายการบินเป็นผู้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะใช้เวลา 3-5 วันทำการก่อนเดินทาง
ดังนั้นก่อนการเดินทาง ควรจะขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ที่ท่านได้รับการรักษา และ ควรจะวางแผนการเดินทางล่วงหน้าเนิ่นๆ นะค่ะ 

ด้วยความปรารถนาดีจาก  G TRAVEL CORPORATION

ขอขอบคุณข้อมูลที่มีสาระดีๆจากคุณหมอ
นอ.นพ.สุกิตติ ปาณปุณณัง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับย้ายผู้ป่วย
Source: http://www.healthtoday.net/thailand/feature/feautre_111.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น